กิจกรรมยกระดับเกษตรอุตสาหกรรม ปั้น 30 แฟรนไชส์ โดย กสอ.

ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม อาทิ ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ผักและผลไม้สด อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม ฯลฯ เป็นธุรกิจที่น่าสนใจในการสร้างอาชีพใหม่ หรือ ค้นหาอาชีพที่ 2 เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ ในประเทศไทยมีการขยายตัวธุรกิจแฟรนไชส์อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจากปัญหาเศรษฐกิจขาลงที่ผ่านมา ที่เกิดจากสถานการณ์โควิค-19 จากข้อมูล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีดัชนีการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ ในปี 2564 มีจำนวนแฟรนไชส์ทั้งสิ้น 596 กิจการ แบ่งเป็นหมวดแฟรนไชส์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดตามลำดับ ดังนี้ กลุ่มอาหาร 142 กิจการ (ร้อยละ 23.83)
เครื่องดื่มและไอศครีม 142 กิจการ (ร้อยละ 23.83) การศึกษา 100 กิจการ (ร้อยละ 16.78) เบเกอรี่ 51 กิจการ (ร้อยละ 8.56) บริการ 47 กิจการ (ร้อยละ 7.89) ค้าปลีก 36 กิจการ (ร้อยละ 6.04) โอกาสทางธุรกิจ 30 กิจการ (ร้อยละ 5.03) ความงาม 25 กิจการ (ร้อยละ 4.19) งานพิมพ์ 14 กิจการ (ร้อยละ 2.35) อสังหาริมทรัพย์ 8 กิจการ (ร้อยละ 1.34) หนังสือและวีดีโอ 1 กิจการ (ร้อยละ 0.17) ธุรกิจแฟรนไชส์คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 300,000 ล้านบาท จากสัดส่วนการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์สร้างความมั่นใจได้ว่าธุรกิจในภาคเกษตรอุตสาหกรรมที่ถูกพัฒนามาเป็น แฟรนส์ไชส์มีสัดส่วนมากที่สุดและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนา ผู้ประกอบการในภาคเกษตรอุตสาหกรรมจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ โดยมุ่งเน้นการต่อยอดการสร้างธุรกิจแฟรนไชส์จากผู้ประกอบการที่มีการดำเนินการธุรกิจอุตสาหกรรมที่แข็งแรงและมีความตั้งใจจะขยายขนาดธุรกิจแบบก้าวกระโดด กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้ดำเนินกิจกรรมยกระดับเกษตรอุตสาหกรรม ปั้น 30 แฟรนไชส์ ขึ้น โดยการดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ กล่าวคือ ระยะที่ 1 ซึ่งได้มีการดำเนินการไปแล้วเสร็จ จะประกอบด้วยเนื้อหาการให้ความรู้และการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ ดังเช่น การปรับพื้นฐานการทำธุรกิจแฟรนไชส์อย่างถูกต้อง การเขียนแผนธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ การทำตลาดออนไลน์และออฟไลน์ การสร้างภาพจดจำธุรกิจ การออกแบบร้านค้า กลยุทธ์การเพิ่มยอดขาย การบริหารร้าน การคำนวณต้นทุน การทำการตลาด และการขยายสาขา การสร้างโมเดลธุรกิจเพื่อการพัฒนาและต่อยอด ระยะที่ 2 เป็นการดำเนินการในกิจกรรมนี้คือการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกการพัฒนารูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ ที่ต่อยอดสู่การเขียนคู่มือแฟรนไชส์ (Franchise Manual) ที่จะเป็นรูปแบบของธุรกิจแฟรนไชส์นั้นๆ ในการก้าวขยายและเติบโตอย่างเป็นระบบ